ทำบุญไม่ขึ้น? ลืมกรวดน้ำหรือเปล่า? วิธีกรวดน้ำให้ได้บุญ

ถาม หลังจากใส่บาตรแล้วไม่กรวดน้ำ บุญจะถึงไหม?

ตอบ    ประวัติการกรวดน้ำนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์เมืองราชคฤห์ได้ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าและหมู่สาวก พระองค์มัวแต่หมั่นพระทัยว่า “พระพุทธองค์จะทรงประทับอยู่ที่ไหน?” จึงไม่ได้อุทิศผลบุญนั้นแก่ใครๆ ทำให้ตอนกลางดึก  มีเสียงแปลกประหลาดเกิดขึ้นในพระราชนิเวศน์ พระราชาทรงหวาดกลัว พอสว่างก็รีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  พอได้ฟังวินิจฉัยของพระพุทธองค์  พระราชาจึงทรงรู้ว่า ตนเองทำทานแต่ลืมอุทิศส่วนบุญให้หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรต ทำให้เกิดเหตุอย่างนั้น  พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายภัตตาหารและเสื้อผ้าและเครื่องปูลาดและที่นอน เป็นต้นอีกครั้ง แล้วอุทิศถวายว่า “อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตโย” แปลว่า “ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด” หลังจากนั้นพระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาปรากฎเนื้อหาในติโรกุฑฑสูตร โดยมีใจความย่อๆ ว่า

“เมื่อเปรตมาสู่เรือนของตน ยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ทาง ๔ แพร่ง ทาง๓ แพร่ง และใกล้บานประตู  ฝ่ายญาติของเปรตเหล่านั้นก็ตั้งข้าว น้ำ ของเคี้ยวและของบริโภคเป็นอันมากไว้ แต่เปรตเหล่านั้นไม่สามารถรู้ได้ เพราะผลกรรม  จึงเป็นเรื่องที่เหล่าญาติที่ต้องการอนุเคราะห์เปรตเหล่านั้นควรจะให้ทานแล้วอุทิศเจตนาให้ว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด  ฝ่ายญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้วเหล่านั้นพอได้รับบุญก็อนุโมทนาโดยเคารพว่า เราทั้งหลายได้สมบัติเช่นนี้ เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืนยาวนาน และบูชาอันทายกทั้งหลายทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และทายกทั้งหลายย่อมไม่ไร้ผล ในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีการประกอบอาชีพต่างๆ  ไม่มีการซื้อการขาย ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในเปรตวิสัยนั้น ด้วยทานทั้งหลายที่ญาติให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้”

จากประวัติการกรวดน้ำนี้ เราจะพบข้อวินิจฉัยปัญหาข้างต้นว่า

1. การถวายทานต้องกรวดน้ำเพื่ออุทิศ ไม่เช่นนั้นญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่รู้ เพราะกำลังรับผลกรรมอยู่  และเมื่อญาติที่ล่วงลับไป  ไม่รู้ก็ไม่สามารถรับส่วนบุญได้

2. ในกรณีที่ลืมหรือไม่รู้ว่าต้องอุทิศ แต่มาจำได้หรือรู้ภายหลังแล้วอยากกรวดน้ำ  เราอาจทำทานใหม่อีกครั้งแล้วตั้งเจตนาอุทิศให้อีกที แต่บางทีหลายคนบอกว่าทำแล้วค่อยไปแผ่ส่วนบุญให้ทีหลังก็ได้ แต่ปัญหาคือว่า ธรรมชาติของจิตนั้นขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเจอปัญหาหลายเรื่อง อาจทำให้จิตที่เป็นกุศลจากการทำทานนั้นลดน้อยถอยลงจนไม่เหลือบุญให้อุทิศ  หรืออาจจะลืมเสียก่อน ฉะนั้น ให้ดีที่สุดคือทำแล้วอุทิศให้ทันทีขณะที่จิตยังเป็นกุศลหลังจากทำบุญใหม่ๆ จะดีที่สุด

3. ผู้ล่วงลับไปแล้วอาศัยเพียงบุญที่คนอุทิศให้เท่านั้น  และเมื่อได้บุญแล้วเขาก็จะปกปักษ์รักษามนุษย์ ซึ่งเนื้อหาตรงนี้ช่วยอธิบายคำอธิบายเพิ่มเติมที่ปรากฎในคำอธิบายเพิ่มเติมของติโรกุฑฑสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงติโรกุฑฑสูตรไว้เพื่อไม่ให้บุคคลประมาทในการทำความดี และช่วยรักษาอันตรายที่มนุษย์ถูกพวกหมู่ภูตเหล่าใดเหล่าหนึ่งเบียดเบียน ฉะนั้น การทำบุญอุทิศจึงเหมือนกับให้ผู้ล่วงลับเหล่านั้นรักษาไม่ให้เกิดเหตุเภทภัยอย่างที่เคยเกิดภัยต่างๆ ในเมืองไพศาลีในสมัยพุทธกาล คือทุพภิกขภัย คือข้าวยากหมากแพง อมนุษยภัย คือภัยจากพวกอมนุษย์ และพยาธิภัย คือ ภัยที่เกิดจากโรคระบาด

4. ที่สำคัญการทำบุญนั้น ผู้ทำบุญไม่ไร้ผลบุญ และถ้าอุทิศให้กับผู้ล่วงลับไปแล้วก็จะได้ยิ่งเพิ่มบุญกุศลนั้นให้มากยิ่งขึ้น เหมือนการต่อเทียน เทียนเล่มแรกไม่ได้ลดแสงลงแม้แต่น้อย แต่จะยิ่งเพิ่มแสงให้มากขึ้น

การกรวดน้ำให้ถูกวิธี ให้ได้บุญสูงที่สุด

การกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วย วิธีที่นิยมคือ เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร พอพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบท ยถา ฯลฯ ก็เริ่มกรวดน้ำโดยตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะรินน้ำใช้มือซ้ายประคอง แล้วว่าบทกรวดน้ำในใจไปจนจบ

การหลั่งน้ำกรวดถ้าเป็นพื้นดิน ควรหลั่งลงในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือนหรือสถานที่ที่มิใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควร เช่น ถาดหรือขันน้ำมารองน้ำที่กรวดไว้ แล้วจึงนำไปเทลงบนพื้นดินตรงที่สะอาด อย่าใช้ภาชนะที่สกปรกและไม่ควรเป็นอันขาด เพราะน้ำที่กรวดเป็นสักขีพยานในการทำบุญ คำกรวดน้ำ ที่นิยมว่ากันทั่วไปมีอยู่สามแบบ คือ แบบสั้น แบบย่อ และแบบยาว ว่าเฉพาะคำบาลีเท่านั้น ดังนี้

คำกรวดน้ำแบบสั้น

อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ (ว่าสามหน)

ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด

หากจะเติมพุทธภาษิตว่า สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย ก็ได้
คำกรวดน้ำแบบย่อ เรียกว่า คาถาติโลกวิชัย

ยงฺกิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ กตฺตพฺพํ กิริยํ มม

กาเยน วาจามนสา ติทเส สุคตํ กตํ

เย สตฺตา สญฺญิโน อตฺถิ เย จ สตฺตา อสญฺญิโน

กตํ ปุญฺญผลํ มยฺหํ สพฺเพ ภาคี ภวนฺตุ เต

เย ตํ กตํ ุวิทิตํ ทินฺนํ ปุญฺญผลํ มยา

เย จ ตตฺถ น ชานนฺติ เทวา คนฺตวา นิเวทยุ ํ สพฺเพ โลกมฺหิ เย สตฺตา ชีวนฺตาหาร เหตุกา

มนุญฺญํ โภชนํ สพฺเพ ลภนฺต มม เจตสา

กุศลกรรมที่เป็นกิริยาควรทำอันหนึ่งด้วยกาย วาจาใจ อันจะเป็นเหตุนำไปให้เกิดในสวรรค์ชั้นไตรทศเทพ ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอสัตว์ซึ่งมีสัญญาและไม่มีสัญญาทุกหมู่เหล่า จะเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วนั้น เหล่าสัตว์ที่ไม่รู้ผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ ในบรรดาสรรพสัตว์จำพวกใดไม่รู้ข่าว ถึงบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอเทพพยาดาทั้งหลาย จงนำไปบอกแก่สัตว์จำพวกนั้น ขอสัตว์ทุกหมู่ในชีวโลก ซึ่งเสพอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จงได้เสวยซึ่งโภชนะอันพึงใจ ด้วยอำนาจเจตนาอุทิศของข้าพเจ้านี้เถิด ฯ

คำกรวดน้ำแบบยาว

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน อุปชฺฌายา คุณุต์ตรา

อาจริยูปการา จ มาตา ปิตา จ ญาตกา (ปิยา มมํ)

สุริโย จนฺทิมา ราชา คุณวนฺตา นราปิ จ

พฺรหมมารา จ อินฺท จ โลกปาลา จ เทวตา

ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ มชฺฌตฺตา เวริกาปิ จ

สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ ปุญฺญานิ ปกตานิ เม

สุขญฺจ ติวิธํ เทนฺตุ ขิปปํ ปาเปถ โว มตํ

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน อิมินา อุทฺทิเสน จ

ขิปฺปาหํ สุลเภ เจว ตณฺหุปาทานเฉทนํ

เย สนฺตาเน หินา ธมฺมา ยาว นิพฺพานโต มมํ

นสฺสนฺตุ สพฺพทา เยว ยตฺถ ชาโต ภเว ภเว

อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา สลฺเลโข วิริยมฺหินา

มารา ลภนฺตุ โนกาสํ กาตุญฺจ วิริเยส เม

พุทฺธาธิปวโร นาโถ ธมฺโม นาโถ วรุตฺตโม

นาโถ ปจฺเจพุทฺโธ จ สงฺโฆ นาโถตฺตโร

เตโสตฺตมานุภาเวน มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา

ด้วยผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำนี้ ขอพระอุปัชฌาย์ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งอาจารย์ผู้ได้สั่งสอนข้าพเจ้ามา ทั้งมารดาบิดาและคณาญาติทั้งสิ้น ตลอดจนพระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ในเอกเทศแห่งเมทนีดล และนรชนผู้มีคุณงามความดีทั้งหลายทุกถิ่นฐาน อีกท้าวมหาพรหมกับหมู่มาร และท้าวมัฆวานเทวราช ทั้งเทพเจ้าผู้รักษาโลกทั้งสี่ทิศ และพญายมราช อีกมวลมิตรสหาย ทั้งผู้ขวนขวายวางตนเป็นกลาง และผู้เป็นศัตรูของข้าพเจ้าทุก ๆ เหล่า จงมีความเกษมสุขนิราศภัย ขอบุญที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ด้วยไตรทวาร จงบันดาลให้สำเร็จไตรพิชสุข ถึงความเกษมปราศจากทุกข์ คือ พระอมตมหานฤพานโดยพลัน อีกโสตหนึ่งนั้น ด้วยกรรมนี้และอุทิศเจตนานี้

ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุทันทีซึ่งการตัดขาดตัณหา อุปาทาน ธรรมอันชั่วในสันดานจงพินาศไปหมด จนตราบเท่าถึงนิพพานสิ้นกาลทุกเมื่อ แม้ว่าข้าพเจ้ายังท่องเที่ยวไปเกิดในภพใดๆ ก็ขอให้มีจิตซื่อตรงดำรงสติปัญญาไวชาญฉลาด ให้มีความเพียรกล้า สามารถขัดเกลากิเลส ให้สูญหาย ขอหมู่มารเหล่าร้าย อย่าได้กล้ำกรายสบโอกาส เพื่อทำให้ข้าพเจ้าพินาศคลายความเพียรได้ อนึ่งไซร้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งอันยิ่งอย่างประเสริฐ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันล้ำเลิศยิ่งประมาณ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันไพศาล และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันอุดมยิ่งประมาณของข้าพเจ้านี้ ด้วยอานุภาพอันอุดมดี พิเศษสูงสุดของพระรัตนตรัย ขออย่าให้หมู่มารได้โอกาสทุกเมื่อไป เทอญ ฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *