นิพพาน…อยู่กับเรา

จิตอันเป็นธาตุรู้ที่พร้อมจะน้อมไปสู่อารมณ์และการเกิดนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นพลังงานอันบริสุทธิ์ที่อยู่ภายในตัวของมนุษย์เราทุกคน แต่นับวันมนุษย์กลับไม่อาจค้นพบจิตเดิมแท้ของตนเองได้ ทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐชนิดเดียวบนโลกที่มีความสามารถพิเศษทางจิต และสามารถพัฒนาคุณธรรมภายในจิตใจของตนเองให้เจริญก้าวหน้าได้
มนุษย์มีขีดความสามารถในการเรียนรู้สิ่งอันเป็นนามธรรมแห่งจิตวิญญาณได้ จึงสามารถถอดรหัสแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในมิติภพภูมิแห่งความคิดความฝันนี้ออกไปได้ และไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้อีกต่อไป
แต่ถ้าดวงจิตลองได้แปดเปื้อนกิเลสเข้าให้แล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะกลับคืนสู่ความเป็นจิตเดิมแท้อีกครั้ง ด้วยเพราะกิเลสนั้นเป็นเครื่องปรุงแต่งให้จิตเกิดความเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส พาจิตให้มัวเมาในมิติมายาที่กิเลสปรุงแต่งให้จิตหลงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ดวงจิตที่แปดเปื้อนด้วยอวิชชาจึงต้องหลงตกเข้ามาอยู่ในวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในมิติภพภูมิที่ดวงจิตนั้นยึดมั่นถือมั่นคิดเป็นจริงเป็นจัง ดวงจิตไปยึดเข้าที่ไหน ดวงจิตย่อมสร้างมิติภพภูมิขึ้นที่นั่น
จิตที่ยิ่งเสพกิเลสมากเท่าไร จิตก็ย่อมตกอยู่ในอำนาจแห่งมายากิเลสมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากดวงจิตวิญญาณยังต้องเวียนว่ายตายเกิดก็เท่ากับยิ่งสะสมความโลภ ความหลง และความยึดมั่นถือมั่น เป็นผลให้การกลับสู่ความเดิมแท้ของจิตวิญญาณสามารถทำได้ยากมากขึ้น
กิเลสจึงเป็นเสมือนสิ่งคอยขัดขวางมิให้ดวงจิตพบกับพระนิพพาน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือต้องการพระนิพพานจำเป็นต้องเร่งจัดการกับบรรดากิเลสเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตให้ได้เสียก่อน เพราะหากว่าดวงจิตยังไม่อาจเท่าทันมายากิเลสได้แล้ว จิตดวงนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพบการหลุดพ้นได้เลย
อันที่จริงภาวะแห่งพระนิพพานนั้นก็อยู่กับดวงจิตของเรานี้เอง หาได้อยู่ไกลอย่างที่ใครๆ ต่างเข้าใจกัน เพียงแต่เราไม่อาจเข้าถึงภาวะอันเดิมแท้ของเราได้ ต้องอาศัยการปฏิบัติจิตด้วยการอบรมจิตเพื่อให้เข้าถึงภาวะแห่งจิตเดิมแท้ อย่างเช่น การอบรมจิตด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา
ด้วยการให้เครื่องรู้แก่จิต เมื่อจิตหันมายึดในกรรมฐานที่เรามอบให้ จิตก็จะพรากออกจากความคิดอันเป็นภาพมายาที่ห่อหุ้มจิตอยู่ และได้สมาธิในที่สุด
อาการสมาธิคืออาการของจิตเดิมแท้ ซึ่งหากอบรมจิตด้วยการให้อุบายวิธีอย่างถูกต้องแล้ว มนุษย์ทุกคนย่อมสามารถเข้าถึงภาวะแห่งจิตเดิมแท้นี้ได้ จิตเดิมแท้ หรือที่เราเรียกว่า “จิตประภัสสร” คือ จิตที่ปราศจากอารมณ์ใดๆ และสิ้นกิเลสลงชั่วขณะ เนื่องจากอาการกิเลสจะถูกระงับลงด้วยอำนาจแห่งอุบายกรรมฐาน กิเลสจึงยังไม่หมดไปจากดวงจิตอย่างแท้จริง เป็นเพียงภาวะที่จิตได้เข้าไปสัมผัสกับจิตเดิมแท้เพียงชั่วคราว แต่ถึงกระนั้นก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการที่จิตดวงนั้นจะเข้าถึงภาวะพระนิพพานได้ในที่สุด
พระนิพพานจะต้องประกอบด้วยภาวะแห่งพระนิพพาน คือ ภาวะแห่งจิตเดิมแท้ อันมีอาการสงบ สว่าง รู้ตื่น เบิกบาน มีปีติ มีความสุข แต่ภาวะจิตที่มีแต่ความว่างเป็นอารมณ์จะยังไม่อาจเอาชนะกิเลสภายในจิตใจได้อย่างเด็ดขาด เพราะบรรดากิเลสที่แฝงอยู่ในจิตใจนั้นจะหมดสิ้นลงได้ก็ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น เราจึงต้องใช้สมาธิในขั้นฌานสมาธินี้เป็นบาทฐานให้ดวงจิตเกิดการไตร่ตรองพิจารณา เพราะอาการของจิตที่อยู่ในท่าที่สงบสว่างนั้น พร้อมที่จะพัฒนาไปสู่ภูมิปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่หากเป็นการพิจารณาในขณะที่จิตมิได้อยู่ในภาวะฌานสมาธิแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะไม่สามารถเข้าถึงภูมิปัญญาแห่งการรู้แจ้งเห็นจริงได้เลย
การไตร่ตรองพิจารณาของจิตยังแยกย่อยออกเป็นการไตร่ตรองพิจารณาในโลกียภูมิ อันมีเรื่องของโลกและธรรมตามสมมติบัญญัติ สูงขึ้นไปจิตก็จะเข้ามาพิจารณาไตร่ตรองในกระบวนการแห่งความคิดที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของตน ซึ่งก็เป็นการที่จิตเฝ้าดูความคิดภายในจิต จิตที่ถูกฝึกมาดีแล้วย่อมเห็นกระบวนการแห่งความคิดที่เกิดขึ้นภายในจิตของตน จนกระทั่งเห็นแต่ความคิดล้วนๆ ไม่มีสมมติบัญญัติ อันเป็นภาวะของจิตขั้นสูงสุดที่เลยสมมติบัญญัติโลก และนั่นก็หมายความถึงว่าดวงจิตได้เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้ว
ดวงจิตที่สามารถเฝ้าดูอาการของความคิดที่เกิดขึ้นภายในจิตของตนเองได้นั้น จะทราบความเป็นจริงของดวงจิตที่อยู่เหนือการปรุงแต่งได้ (เป็นความรู้แจ้งเห็นจริง) ต่อเมื่อสมาธิจิตลดกำลังลง จึงจะเริ่มมีสมมติบัญญัติปรากฏขึ้นมา จิตที่มีความฉลาดย่อมเห็นถึงกระบวนการปรุงแต่งของความคิดที่ถูกมายาสมมติเข้าปรุงแต่งความคิดเหล่านั้น และเกิดมีอารมณ์ต่างๆ ปรากฏขึ้นมา ทั้งดีใจ พอใจ ทั้งทุกข์ใจ เสียใจ ตามแต่สมมติบัญญัติโลกจะกำหนดความหมาย ดวงจิตที่ตกอยู่ภายใ
ต้อำนาจโลก ย่อมปรุงแต่งความคิดเหล่านั้นไปตามที่โลกต้องการ อันเป็นการตกไปอยู่ในโลกียภูมิตามเดิม
นิพพานจึงเป็นอาการที่จิตทรงตัวอยู่เหนืออาการปรุงแต่งทางโลกได้อย่างสมบูรณ์ โดยที่ภาวะจิตไม่กลับไปสู่อำนาจแห่งโลกมายาสมมติอีก จิตที่มีอาการปกติเป็นกลาง คือ ไม่มีทั้งความยินดีและยินร้าย ไม่สุขและไม่ทุกข์ ไม่มีบาปและไม่มีบุญ หมดอวิชชาความหลง หมดซึ่งการยึด การปรุง จิตในอาการเช่นนี้ย่อมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในมิติภพภูมิแห่งความคิดความฝันนี้ออกไปได้ และเมื่อความฝันเรื่องนี้จบลงย่อมไม่ปรากฏความฝันเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาอีกต่อไป จิตจึงเข้าถึงภาวะพระนิพพานด้วยประการละฉะนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *